ทุกครั้งที่เริ่มวางแผนเที่ยวญี่ปุ่น นอกจากความสนุกสนานของทริปที่เราวาดฝันไว้จะให้เกิดขึ้นแล้วนั้น แต่บางครั้งสิ่งไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นตามมาได้เสมอในระหว่างการเดินทาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยขึ้น ไหนจะอุปสรรคในด้านการสื่อสารภาษา อีกทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่แน่นอนว่าเยอะสุดๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคิดเผื่อไว้ หรือเตรียมการให้อุ่นใจไว้ก่อน

home portrait of a three-generation asian family

ขอยกตัวอย่าง 3 กรณีของการเจ็บป่วย ที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวของแอดมินเอง เริ่มตั้งแต่เคสที่ไม่รุนแรง ยังพอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนถึงเคสที่ต้องโทรเรียกรถพยาบาลเพื่อแอดมิทกันเลยทีเดียว

กรณีที่ 1: คุณ A เดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นกับสามี เมื่อเดินทางมาถึงได้เกิด อาการปวดท้องบิด และถ่ายตลอดทุกๆชั่วโมง หลังจากสามีพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ได้วินิจฉัยว่าก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น คุณ A ได้รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง จากนั้นแพทย์ออกใบสั่งยา และให้ไปซื้อยาที่ร้านขายยาด้วยตัวเอง

กรณีที่ 2 : คุณ B เดินทางไปเล่นสกีที่สกีรีสอร์ทชื่อดังแห่งหนึ่ง โชคร้ายเกิดล้มทำให้เสียการทรงตัวจึงลงผิดท่าโดยใช้แขนยันไว้ ทำให้ แขนหักและต้องเข้าเฝือก อยู่ร่วมเดือน อีกรายเกิดขึ้นคล้ายๆกัน แต่อาการหนักกว่าล้มจากการเล่นสกีถึงขนาดว่ากระดูกหักจนเดินไม่ได้ไปพักใหญ่

shutterstock_2466824

กรณีที่ 3: คุณ C เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจ ไปพบแพทย์ที่คลินิค เพราะทราบมาว่า วันเสาร์และอาทิตย์นั้นเป็น วันหยุดของแพทย์ในโรงพยาบาล ทำให้ไม่มีแพทย์ประจำการอยู่ จะมีก็ในกรณีฉุกเฉินหรือจะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้ทำการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ แต่คนไข้ มีปัญหาในด้านการสื่อสาร จึงไม่สามารถเข้าใจกันได้ถึงสาเหตุที่แท้จริง คุณ C ยอมทนปวดท้องไปอีกเกือบสองวันจนทนไม่ไหว จึงแจ้งให้ทางโรงแรมให้ช่วยประสานว่ามีอาการปวดท้องอย่างหนักต้องการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทางโรงแรมจึงโทรเรียก รถฉุกเฉิน เพื่อนำตัวไปส่งยังโรงพยาบาล ปรากฎว่าเกิดจากอาการ ไส้ติ่งอักเสบ จึงต้องทำการ ผ่าตัดแบบฉุกเฉิน เสียค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดร่วม 200,000 เยน เนื่องจาก ไม่มีประกันการเดินทาง

ambulance


ดังนั้นปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเป็นในเรื่องของ การสื่อสารทางภาษา อีกทั้งโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นอย่างที่ทราบกันไม่ใช่ว่าใครเจ็บป่วยก็จะเดินสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าไปขอรับบริการได้ ส่วนใหญ่จะต้องเป็นกรณีที่ ผู้ป่วยได้นัดหมายไว้แล้วเท่านั้น นอกจากจะเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆและมีรถพยาบาลมาส่งเท่านั้น

และอีกหนึ่งปัญหาที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นแตกต่างจากโรงพยาบาลในประเทศไทยคือ แพทย์จะหยุดทำการในวันเสาร์และอาทิตย์ ในบางเคสจึงต้องเข้ารับการรักษาตามคลินิคก่อน เพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ในครั้งนี้จะมาแนะนำวิธีปฎิบัติ หากเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะได้เซฟตัวเองได้ทันการครับ

  • ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 119 ในกรณีต้องการเรียกรถพยาบาล แต่เนื่องจากปลายสายจะทำการสนทนาด้วยภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่สามารถสื่อสารได้ ให้ช่วยบอกที่อยู่ที่เราพักอยู่ เพื่อให้รถพยาบาลสามารถมารับเราได้อย่างถูกต้อง
  • ติดต่อศูนย์การแพทย์นานาชาติหรือสายด่วน AMDA หมายเลข 03-5285-8088 (เฉพาะเขตโตเกียว)  เวลาทำการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวสามารถติดต่อสายคอลเซ็นเตอร์ Japan Help Line ที่หมายเลขโทรศัพท์ 03-5774-0992ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีสตาฟและล่ามภาษาต่างประเทศคอยให้ความช่วยเหลือ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการป่วยเบื้องต้นพร้อมแนะนำโรงพยาบาลหรือคลินิคใกล้เคียงให้กับเรา

main_img

  • อีกหนึ่งช่องทางใน การช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตโตเกียว Tokyo Metropolitan Health and Medicine Information Center (มีล่ามภาษาไทย) โทร. 03-5285-8181 เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.
    หรือ กรณีต้องการผู้ช่วยแปลภาษา Emergency Translation Service (มีล่ามภาษาไทย) โทร. 03-5285-8185 วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.
  • ขั้นตอนเมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ที่ควรจะทราบมีดังนี้ ลงทะเบียน > กรอกข้อมูลลงในแบบสอบถาม > เข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • หลังจากได้ทำการพบแพทย์ และทำการวินิจฉัย ในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะสั่งจ่ายใบสั่งยา โดยเราจะต้องนำใบสั่งซื้อยาที่ออกให้โดยแพทย์แล้วไปซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนในกรณีที่ต้องมีการทำแผล เข้าเฝือก หรือแอดมิท จะเป็นไปตามขั้นตอนของแต่ละโรงพยาบาล

shutterstock_1622315

หมายเหตุ: ด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแน่นอนว่าค่ารักษาที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยบัตรเครดิต มักจำกัดเฉพาะสถานพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้น สามารถสอบถามก่อนการรักษาพยาบาล โดยทั่วไปตามคลินิคจะ รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น